ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ | Knowledge Base


Knowledge Base


การสกรีนสัญลักษณ์มอก.บนกระจก สำคัญอย่างไร?

     โดยปกติแล้ว เราไม่สามารถแยกแยะระหว่างกระจกดิบและกระจกนิรภัยเทมเปอร์ได้ด้วยตาเปล่า แต่มีสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ ว่ากระจกแผ่นนั้นได้ผ่านกระบวนการแปรรูปจริง คือให้สังเกตการสกรีนโลโก้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.965-2560) ที่มุมด้านบนของกระจก การสกรีนจำเป็นต้องมีสัญลักษณ์ของโรงงานผู้ผลิตและตรามอก.ควบคู่กัน เพื่อยืนยันว่ากระจกแผ่นนั้นเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่ได้มาตรฐาน 100% และสอบกลับไปยังผู้ผลิตได้ กรณีกระจกนิรภัยลามิเนต ให้ท่านสังเกตการสกรีนโลโก้ มอก.1222-2560 ที่ต้องมีควบคู่กับสัญลักษณ์ของโรงงานผู้ผลิตเช่นเดียวกัน
 
     ประตูหรือฉากกั้นอาบน้ำที่เป็นกระจกบานเปลือย อย่างน้อยควรเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered glass) เพราะกรณีเกิดการแตก กระจกจะแตกเป็นลักษณะเม็ดข้าวโพด ไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าต้องการความปลอดภัยสูงสุด ทางเราแนะนำให้ท่านสั่งเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ลามิเนต เพราะกระจกที่แตก จะถูกฟิล์มตรงกลางกระจกยึดไว้ ไม่กระเด็นออกสร้างความอันตรายแก่ร่างกาย
 
     หากท่านพบกระจกแผ่นไหนที่ไม่มีการสกรีนสัญลักษณ์ผู้ผลิตและมอก.เลย ขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งาน และเลือกใช้เฉพาะกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (หรือลามิเนต) ที่มีสกรีนสัญลักษณ์ผู้ผลิตและมอก. เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น

Knowledge Base


ต้องการประหยัดพลังงาน ควรใช้กระจกแบบไหน?

     พลังงานจากดวงอาทิตย์ (Solar Transmission) ประกอบด้วยพลังงานหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ 1. รังสียูวี (UV)  2. รังสีอินฟราเรด (Infrared)  3. แสงที่สายตามนุษย์มองเห็น (Visible Light) (ภาพที่ 1)  ซึ่งสำหรับคนที่ทำงานกับกระจกแล้ว เราต้องการได้กระจกที่กันความร้อนจากรังสีอินฟราเรด และสามารถกันรังสียูวี แต่ใสพอที่จะให้แสงสว่างส่องผ่านได้ (เพื่อประหยัดพลังงานจากเปิดไฟ) และแสงต้องไม่ส่องผ่านมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดภาวะแสงแยงตา (glare) 
 
     กระจกอะไร ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ... คำตอบคือ กระจกโลอี (Low-Emissivity / Low-E)
กระจกโลอี มีคุณสมบัติกันความร้อนที่มากับแสง Infrared แต่ยังมีความใสเพียงพอให้ Visible light ส่องผ่านได้ (ภาพที่ 2) โดยปกติแล้ว ควรใช้กระจกโลอีในลักษณะของกระจกลามิเนต (ฟิล์มลามิเนต มีคุณสมบัติกันรังสี UV) หรือกระจกอินซูเลต เพื่อป้องกันการหลุดหรือเสื่อมสภาพของสารโลอีที่เคลือบอยู่บนผิวกระจก (ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการเคลือบกระจกโลอีในลักษณะ hard-coat ก็ตาม) และที่สำคัญ ในการสั่งผลิต อย่าลืมสเป็คให้ด้านที่เคลือบโลอีอยู่เป็น ‘surface #2’
 

     ถ้าจะให้เรียงลำดับกระจกโลอีที่ช่วยลดพลังงาน จากมากไปน้อย ทางเราแนะนำดังนี้

1.กระจกอินซูเลตโลอี

2.กระจกลามิเนตโลอี 

3.กระจกโลอีชั้นเดียว

แต่หากหน้างานมีงบประมาณไม่เพียงพอ ต้องใช้กระจกธรรมดา ก็สามารถเลือกเป็นกระจกสี หรือลามิเนตกระจกใสกับฟิล์มสี ได้เช่นกัน

Knowledge Base


‘Spontaneous Breakage’ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกันหรือไม่?

     Spontaneous Breakage คือการแตกเองของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่สำคัญๆ คือ
1. แตกจากขอบกระจก เนื่องจากการเจียรขอบกระจกไม่เรียบร้อย  การขนส่ง/การแพ็คที่ไม่ดี หรือการติดตั้งโดยไม่มีอะไรรองระหว่างขอบกระจกและเฟรม เหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุให้เกิดความเครียดในเนื้อกระจก ซึ่งจะส่งผลให้กระจกแตกเองได้ในเวลาต่อมา
2. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ที่โดนความร้อน จะเกิดความเครียด หรือ ที่เรียกกันว่า ‘Thermal stress’ ซึ่งหากกระจกเทมเปอร์แผ่นนั้นๆ มีการเจือปนของ “Nickel Sulfide” ในจุดที่เกิดความเครียด กระจกแผ่นนั้นจะแตกเอง 
 
     Nickel Sulfide ที่ว่านี้ อาจมีขนาดเพียง 0.05 มม. ก็สามารถทำให้กระจกเทมเปอร์แผ่นนั้นๆ แตกเองได้แล้ว Nickel Sulfide เป็นสิ่งเจือปนที่อาจเกิดขึ้น ในระหว่างกระบวนการผลิตกระจกโฟลต ซึ่งโรงงานแปรรูปกระจกนิรภัย ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า กระจกโฟลตที่นำเข้ามาในแต่ละล็อตนั้น มีส่วนผสมของ Nickel Sulfide หรือไม่
 
     ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิด Spontaneous Breakage ที่เกิดจากการเจือปนของ Nickel Sulfide ได้ 100% มีแต่เพียงวิธีหลีกเลี่ยง หรือ ลดความเสี่ยง หนึ่งในนั้น คือการสั่งกระจก Heat-strengthened แทนการสั่งกระจกเทมเปอร์ อีกทางหนึ่ง คือการ ‘Heat Soak’ กระจก หลังผ่านกระบวนการอบเทมเปอร์ กระจกที่อาจแตกเองเพราะมี Nickel sulfide จะแตกในกระบวนการ Heat Soak แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังไม่มีผู้ผลิตรายใด สามารถรับประกันได้ว่า การ Heat Soak จะลดการเกิด Spontaneous breakage ได้ 100% ได้แค่เพียงลด % ความเสี่ยงเท่านั้น
 

Knowledge Base


ฟิล์ม 0.89 คืออะไร?

     เมื่อพูดถึง ‘กระจกนิรภัยลามิเนต’ (Safety Laminated Glass) หลายๆ คนคงทราบว่า หมายถึงกระจกที่ใช้ฟิล์ม PVB (Polyvinyl Butyral) มาประกบตรงกลางระหว่างกระจกสองแผ่น เพื่อป้องกันกรณีกระจกแตก จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือคนที่อยู่ใกล้เคียง แต่ถึงกระนั้นหากฟิล์ม PVB ยังไม่ปลอดภัยเพียงพอ จะมีวัสดุอะไรที่แข็งแรงกว่า รับน้ำหนักได้ดีกว่า ทนน้ำทนแดดได้ดีกว่า และแตกยากกว่าไหม
 
     คำตอบคือ ฟิล์ม SGP( SentryGlasTM Plus ) หรือ INP (Innoplast) หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ฟิล์ม 0.89 มม. ฟิล์มชนิดนี้ เป็นฟิล์มที่สามารถทนต่อแรงฉีกขาด (Tear Strength) ได้มากกว่าฟิล์ม PVB ถึง 5 เท่า ทนต่อแรงเฉือน (Shear Modulus) ได้ดีกว่าฟิล์ม PVB ถึง 50 เท่า และยังมีความแข็งแรงมากกว่าฟิล์ม PVB ถึง 100 เท่าอีกด้วย ทั้งยังมีคุณสมบัติไม่กลัวน้ำ ไม่กลัวความชื้น จึงเหมาะแก่การนำไปทำกระจกลามิเนต ที่ต้องการความปลอดภัยสูง รับน้ำหนักมาก สามารถติดตั้งภายนอกอาคารโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการแยกตัวของชั้นฟิล์ม (Delamination)
 
     ด้วยเหตุผลนี้ ฟิล์ม SGP จึงได้รับความนิยม นำมาใช้กับงานโครงสร้างที่ต้องการความแข็งแรง ทนแดดทนฝน และต้องการความปลอดภัยสูง เช่น สกายวอล์ค ราวกันตก หลังคาบ้าน/อาคารจอดรถ ราวบันได กระจกผนังอาคาร (Curtain wall) รวมถึงกระจกที่ต้องการความปลอดภัยจากอาวุธที่รุนแรงและมีอานุภาพสูงได้

Knowledge Base


การแปรรูปกระจก

     งานเจาะ แบ่งเป็น 2 แบบตามลักษณะการใช้งาน
1. การเจาะแบบธรรมดา เป็นการเจาะรูทะลุกระจกโดยที่ปากรูจะมีขนาดเท่ากับรู ใช้กับงานทั่วไป เช่น งานกระจกดิบ งานที่ไม่เน้นความสวยงาม
2. การเจาะแบบเทเปอร์ เป็นการเจาะรูโดยขอบรูด้านบนจะใหญ่กว่าขนาดรู เพื่อลบรอยกระเทาะที่ขอบ ใช้สำหรับงานที่ต้องการความสมบูรณ์แบบในเรื่องการประกอบชิ้นงาน เหมาะกับงานประเภทเฟอร์นิเจอร์และงานเทมเปอร์บานประตูหน้าต่าง
 
     งานบาก แบ่งเป็น 2 แบบตามลักษณะการใช้งาน
1. บากอุปกรณ์ประตู เป็นการบากกระจกเพื่อใส่อุปกรณ์ประตู โดยบากตามมาตรฐานของอุปกรณ์ที่จะนำมาประกอบงานประตูบานเปลือยหรือกระจกห้องอาบน้ำ
2. บากอื่นๆ เป็นการบากกระจกเพื่อเว้นสิ่งกีดขวางในการติดตั้ง เช่น ปลั๊กไฟ ส่วนใหญ่พบในงานตกแต่งผนังด้วยกระจก
 
     งานเจียร แบ่งเป็น 4 แบบตามลักษณะการใช้งาน
1. เจียรริม / เจียรขัดมัน / เจียรสวย เป็นการเจียรสันกระจกโดยรอบ สันกระจกจะเป็นเหลี่ยม พร้อมขัดมัน เหมาะกับงานประตูหน้าต่าง ฉากกั้นอาบน้ำบานเปลือย งานหน้าโต๊ะ แผงโชว์ เป็นต้น
2. เจียรหยาบ เป็นการเจียรสันกระจกเป็นเหลี่ยมโดยไม่ขัดมัน ขอบกระจกมีสีขุ่น เหมาะกับงานที่ไม่ต้องโชว์สันกระจก
3. เจียรลบคม เป็นการลบคมที่สันกระจก เพื่อไม่ให้บาดมือในการติดตั้ง เหมาะกับงานที่เข้ากรอบต่างๆ
4. เจียรปรี เป็นการเจียรหน้ากระจกให้มีผิวเรียบ มันวาว โดยต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ คือ ความกว้างของปรี มุมของปรี และความกว้างของการลบมุม

 

Knowledge Base


กระจกสะท้อนแสง...อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อลดความร้อนให้กับอาคารของคุณ

     กระจกสะท้อนแสง เป็นกระจกที่ได้รับความนิยมมากในอาคารหรือตึกสูง กระจกชนิดนี้ถูกเคลือบไปด้วยสารสะท้อนแสง เมื่อแสงตกมากระทบจึงสามารถสะท้อนออกไปได้ 20-30% ช่วยลดพลังงานความร้อนที่จะเข้ามาในอาคารได้ แต่ข้อจำกัดของกระจกสะท้อนแสงคือ แสงที่สะท้อนอาจไปรบกวนอาคารข้างเคียง และการที่กระจกสะท้อนแสงค่อนข้างมากจะส่งผลให้ภายในอาคารมืด นอกจากนี้ ในช่วงกลางคืนเมื่อมองจากด้านที่มืดกว่าไปด้านที่สว่างกว่าจะมองเห็นทะลุปรุโปร่ง แต่ถ้ามองจากด้านที่สว่างกว่าจะไม่เห็น ค่อนข้างเสียความเป็นส่วนตัว จึงไม่นิยมนำมาใช้กับบ้านพักหรือโรงแรม
 
     เรามักพบเห็นกระจกสะท้อนแสงในอาคารสำนักงานโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งเน้นใช้งานในเวลากลางวัน ราคาไม่สูงมาก แถมยังช่วยป้องกันความร้อนได้ดี ซึ่งก็แลกกับข้อเสียดังกล่าวค่ะ ใครที่อยากเลือกใช้กระจกสะท้อนแสงเพื่อช่วยลดความร้อนให้กับอาคารก็ลองศึกษาข้อดีข้อเสียดูนะคะ

 

Knowledge Base


กระจกประหยัดพลังงาน

     รู้ไหมว่า กระจกประหยัดพลังงาน  นอกเหนือจากการรณรงค์ให้ใช้ตู้เย็นประหยัดพลังงานเบอร์ 5 แล้ว วันนี้จะพามารู้จักกระจกประหยัดพลังงานเบอร์ 5 กันค่ะ  หลายคนคงสงสัย มีด้วยหรอ กระจกประหยัดพลังงานเบอร์ 5 เจ้ากระจกที่ว่านี้จะช่วยให้เราประหยัดพลังงานได้อย่างไรบ้าง
 
     นอกจากนี้กระจกประหยัดพลังงานที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายอีกชนิดหนึ่งคือ กระจกแผ่รังสีต่ำ (Low-E Glass) เป็นอีกหนึ่งชนิดของกระจกเคลือบผิว ที่นำกระจกโฟลต์ใสมาผ่านกระบวนการเคลือบด้วยโลหะออกไซด์ที่มีโลหะเงินบริสุทธิ์เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งช่วยให้สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดี จึงทนทานต่อการแตกร้าวในพื้นที่ที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิภายนอกและภายในได้ดี กระจกจะมีลักษณะใส ไม่ทึบแสง ให้ค่าแสงส่องผ่านได้มาก แต่มีค่าการสะท้อนแสงอาทิตย์ได้น้อย ด้วยคุณสมบัติที่เคลือบด้วยสารที่มีค่าการแผ่รังสีต่ำมาก กระจกชนิดนี้จึงมีความสามารถในการแผ่รังสีต่ำไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิยมนำกระจกชนิดนี้ไปทำเป็นกระจกป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี
 
อาคารประหยัดพลังงานที่มีความโดดเด่นอย่างโครงการ “ปาร์คเวนเชอร์ – ดิ อีโคเพล็กซ์ ออน วิทยุ” ก็เลือกใช้กระจกแผ่รังสีต่ำเป็นกรอบอาคารเช่นกัน และอาคารแห่งนี้ก็ยังเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ได้รับการรับรอง LEED ในระดับ Platinum ในประเภท Mixed Uses Complex เป็นแห่งแรกของเมืองไทยอีกด้วย จากแนวคิดปรัชญาของการสร้างโครงการเพื่อให้เป็น อีโค คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติที่ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองเมือง เน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้สอยภายในอาคาร โดยให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โครงการนี้มุ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการวางแผนและการออกแบบ กระทั่งขั้นตอนการก่อสร้างจนสุดท้ายที่เปิดใช้งาน อาคารหลังนี้ก็ยังคงคอนเซ็ปต์ของการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานภายในอาคารมาโดยตลอด ฉะนั้นจึงส่งผลให้ปาร์คเวนเชอร์ ได้รับการการันตีด้วยรางวัลอย่าง Thailand Energy Award 2013 ประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (อาคารใหม่) และรางวัล ASEAN Energy Awards 2013 เป็นต้น
 

Knowledge Base


"จุดอ่อนของกระจกนิรภัยเทมเปอร์"

     กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า กระจกเทมเปอร์) สามารถทนต่อแรงกระทบและแรงกระแทกได้มากกว่ากระจกธรรมดาที่มีความหนาและขนาดเดียวกันประมาณ 3-5 เท่า หากมีใครวิ่งชนบานกระจกเทมเปอร์เข้าที่กลางแผ่น จะพบว่า เกิดความบาดเจ็บที่ร่างกายได้ แต่…กระจกจะไม่แตก!
 
     ท่านทราบหรือไม่ว่า กระจกเทมเปอร์ มีจุดอ่อนอยู่ที่ “สันและมุมกระจก” หลายครั้ง ที่ช่างกระจกหรือเจ้าของบ้าน ยกกระจกไปชนกำแพง และพบว่ากระจกแตกละเอียด อาจเกิดความสงสัย ว่าทำไมกระจกแผ่นนั้น แตกง่ายนัก ก็เพราะกระจกแผ่นนั้น โดนกระแทกที่จุดอ่อนนั่นเอง! อีกประเด็นหนึ่ง ที่ทุกท่านต้องทราบคือ หลังการอบกระจกเทมเปอร์แล้ว จะไม่สามารถนำกระจกแผ่นนั้นๆ มาเจาะรู หรือตัดให้ขนาดเล็กลงได้ ท่านจึงต้องวัดขนาดกระจก และระยะเจาะรูหรือบากต่างๆ ให้แม่นยำและแน่ใจ ก่อนสั่งผลิตกระจกเทมเปอร์ทุกครั้ง